ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

ศึกษาข้อมูล

ศึกษา สำรวจ รวบรวมวิทยาการด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เอกสาร ตำรา เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่านทุกแขนง รวมทั้งบุคลากร ผู้รู้ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกแขนงและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยถ่ายทอดความรู้และจิตสำนึกของการอนุรักษ์ ปกป้อง รักษา คุ้มครอง มรดกทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม โดยยังคงเอกลักษณ์และศิลปกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เพื่อเรียบเรียงเป็นชุดข้อมูลเบื้องต้น สำหรับการวางแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่นิทรรศการด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. ด้านพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรและทรงงานในจังหวัดน่าน
  2. ด้านวิถีชีวิต สังคม ชาติพันธุ์ เป็นพื้นฐานของข้อมูลสำหรับการศึกษาความเข้าใจของพื้นฐานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก
  3. ด้านภูมิปัญญาวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ วรรณกรรม นาฏกรรม คีตกรรม
  4. ด้านภูมิปัญญาศิลปะ การช่าง การถักทอผ้า การแกะสลัก โลหะกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม หัตถกรรม ปฏิมากรรม
  5. ด้านประวัติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จัดแสดงข้อมูลการจัดการปกครอง กฎหมายอาณาจักรหลักคำ
  6. ด้านยุทธศาสตร์การศึกสงคราม การปกป้องบ้านเมือง ศาสตราวุธโบราณ ศิลปะการต่อสู้ กองทัพกับประชาชน
  7. ด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรม
  8. ด้านเกษตรศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ข้อมูล ระบบเหมืองฝาย เมืองจัดการตนเอง โครงการต่าง ๆ การพัฒนาผลผลิตการเกษตร เช่น กาแฟ ส้มสีทอง ข้าวฯลฯ
  9. ด้านผังเมือง การจัดแสดงผังเมืองและพัฒนาการทางผังเมือง
  10. องค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม

ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม

  1. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยการจัดประชุมหรือประชาคมในชุมชนในพื้นที่ โดยมีตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาโครงการ เข้าร่วมเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานศึกษาของการพัฒนาโครงการ โดยควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานอย่างพอเพียง
  2. จัดประชุมสำหรับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง
    • จัดเวทีกลุ่มย่อยเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
    • จัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เพื่อ
    • การนำไปสู่การออกแบบผังและรูปแบบรายการตามศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต
    • จัดกระบวนการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ศักยภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องกับโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก
    • จัดกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการนำเสนอรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกโดยเน้นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน
  3. การศึกษาดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างและฟังบรรยายจากผู้ดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม หรืออาคารในลักษณะที่เป็นแนวทางใกล้เคียงกัน ที่ดำเนินการแล้วได้ผลดี โดยจะสามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่าง หรือแบบอย่างในการบูรณาการแนวความคิดเข้ากับการพัฒนาอาคารและบริเวณโดยรอบอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ต่อไป

สำรวจ ออกแบบ และประมาณราคา

ออกแบบรายละเอียดงานสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโครงสร้าง งานตกแต่งภายใน สื่อนิทรรศการ และวิศวกรรมงานระบบต่าง ๆ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้สอดคล้องบริบทเมืองเก่าและสถาปัตยกรรมเมืองเก่าน่าน จัดทำรายการคำนวณทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายการประมาณราคาค่าก่อสร้าง (BOQ.) และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งงานรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างเดิมทั้งหมด ตามข้อกำหนดของทางราชการ ประกอบด้วย

  1. ปรับปรุงภายในอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า)
  2. อาคารศูนย์เรียนรู้น่าน
  3. ภูมิทัศน์ภายในพื้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ทั้งหมด
  4. อาคารประกอบอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งการปรับปรุงอาคารเดิม และการก่อสร้างใหม่ เช่น อาคารแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาคารเก็บพัสดุ อาคารห้องสุขา ลานวัฒนธรรม ลานจอดรถ และถนนภายในโครงการป้อมยาม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น

ทั้งนี้ แบบก่อสร้างและรายการประกอบแบบทั้งหมด จะมีวิศวกร สถาปนิก และมัณฑนากร ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ลงนามรับรองแบบในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องและครบถ้วนตามกฎหมาย

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

  1. จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ประชาสัมพันธ์ และจัดทำแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  2. จัดให้มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน เกี่ยวกับการดำเนินโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก
  3. รวบรวมและสรุปผลการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันรับฟังความคิดเห็น

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2562