บริบทของเมืองเก่าน่าน

บริบทของเมืองเก่าน่าน

บริบทของเมืองเก่าน่าน

เมื่อพิจารณาบริเวณพื้นที่เมืองเก่าน่าน ตามองค์ประกอบของทฤษฎีจินตภาพของเมือง (Image of the city) โดย Kelvin Lynch (1960) ได้แก่ เส้นทาง ที่รวมกิจกรรม ขอบเขต ย่าน และจุดหมายตา สามารถอธิบายได้ดังนี้

  1. เส้นทาง (Path)
เส้นทางหลักที่สำคัญ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ซึ่งเป็นถนนเข้าสู่อำเภอเมืองน่าน ที่มาจากแพร่ ผ่านเข้าสู่อำเภอเวียงสาสู่ตัวเมือง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1091 ที่เริ่มจากถนนสุริยพงษ์ไปอำเภอบ้านหลวง สามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดพะเยา ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1080 ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ถนนมหายศ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่น่านส่วนบน ถนนสุมนเทวราชเป็นถนนแนวแกนเหนือ – ใต้ ของเมือง เป็นถนนที่มีความสำคัญที่ตัดผ่านย่านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 ที่เชื่อมต่อกับถนนมหาวงศ์เป็นถนนแนวแกนตะวันตก – ตะวันออกที่เชื่อมโยงไปวัดพระธาตุแช่แห้งไปสู่พื้นที่จังหวัดน่านส่วนตะวันออก
  1. ที่รวมกิจกรรม (Node)
พื้นที่เมืองน่านมีที่รวมกิจกรรมหลัก ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนสุมนเทวราช ระหว่างโรงแรมเทวราชกับวัดหัวเวียงใต้ ตลาดตั้งตรงจิตนุสรณ์และตลาดกรมธนารักษ์ พื้นที่โล่งใต้สะพานพัฒนาภาคเหนือ ริมน้ำน่าน เป็นพื้นที่โล่งนันทนาการที่รองรับกิจกรรมพักผ่อนของชาวเมืองในชีวิตประจำวันและในวิถีชีวิตวัฒนธรรมประจำปี สถานีขนส่งใหม่บริเวณถนนเจ้าฟ้ามีพื้นที่รวมกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ ใจเมือง และข่วงเมือง บริเวณถนนสุริยพงษ์ตัดกับถนนผากองอันเป็นที่ตั้งของหอคำในอดีต ปัจจุบันคือ พื้นที่ที่ประกอบด้วยที่ทำการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ และวัดหัวข่วง
 
พื้นที่รวมกิจกรรมรองได้แก่ ถนนผากองติดกับวัดสวนตาล โดยพื้นที่สองฟากถนนรองรับกิจกรรมชาวเมืองตอนค่ำไปจนถึงกลางคืนเป็นที่ตั้งตลาดโต้รุ่ง
  1. ที่รวมกิจกรรม (Node)
ขอบเขตหลักของเมืองน่านที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำน่านที่แบ่งตัวเมืองน่านออกเป็นสองฝากได้แก่ ตัวเมืองน่านฝั่งตะวันตก ที่มีความหลากหลายซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดินและศูนย์รวมกิจกรรม และตัวเมืองน่านฝั่งตะวันออกอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่ตั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง
 
ขอบเขตระดับรอง คือ แนวคูน้ำและกำแพงเมืองเก่า ที่ยังคงหลงเหลือปรากฏหลักฐานตั้งแต่บริเวณหัวถนนอนันตวรฤทธิเดช และที่ถูกชาวบ้านเข้าตั้งถิ่นฐานทับซ้อนบนกำแพงเก่าด้านถนนรอบเมืองด้านทิศใต้ และแนวคูคลองเปรมประชาราษฎร์
  1. ย่าน (Districts)

ย่านที่สำคัญหลักๆ แบ่งประเภทได้ดังนี้

  • ย่านอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมได้แก่ บริเวณใจกลางเมืองน่าน และวัดพระธาตุแช่แห้ง
  • ย่านพาณิชยกรรมและที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง และหนาแน่นสูง อยู่บริเวณสองฝากของถนนอนันตวรฤทธิเดชและถนนสุมนเทวราช
  • ย่านราชการ ได้แก่ บริเวณศูนย์ราชการกลางเมืองและด้านทิศเหนือ ได้แก่ ค่ายสุริยพงษ์ โรงพยาบาลน่าน และสนามบิน
  • ย่านพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ บริเวณทุ่งนาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน และพระธาตุแช่แห้ง
  1. จุดหมายตา (Landmark)
จุดหมายตาหลักระยะไกลของเมืองน่าน ได้แก่ พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ฟากตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง และพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่บนภูเขาด้านทิศตะวันตกของเมือง โดยมีแนวแกนตะวันออก – ตะวันตกที่เชื่อมโยงกัน จุดหมายตาระยะใกล้ ได้แก่ พระธาตุช้างค้ำ วิหารวัดภูมินทร์ พื้นที่โล่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เจดีย์วัดสวนตาล และปล่องเมรุเผาศพวัดท่าล้อฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
จินตภาพเมืองน่านด้านเส้นทาง และที่รวมกิจกรรม
จินตภาพเมืองน่านด้านขอบเขต และย่าน
จินตภาพเมืองน่านด้านจุดหมายตา และภาพรวมจินตภาพเมืองน่าน

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม “ใจเมืองน่าน”

  1. ชุมชนและเมืองโบราณในเขตเมืองน่าน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะเห็นได้ว่า เมืองน่านเป็นชุมชนและเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่เมืองหนึ่งในดินแดนล้านนาตะวันออก โดยที่ตั้งของตัวจังหวัดปัจจุบันตั้งซ้อนทับบนตัวเมืองโบราณเดิม มีการย้ายถิ่นฐานและสร้างเมืองใหม่อยู่หลายครั้ง เนื่องมาจากการปรับที่ตั้งให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการเชื่อมต่อกับเมืองและอาณาจักรใกล้เคียง และความจำเป็นในการขยายเมืองเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการย้ายถิ่นฐานแต่ละครั้งล้วนก่อให้เกิดชุมชนหรือเมืองอันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
 
การสร้างเวียงพระธาตุแช่แห้งมีช่วงเวลาอยู่แค่เพียงสมัยสุโขทัยหรือช่วงเวลาใกล้เคียง และเมืองน่านกับเวียงดงพระเนตรก็ถูกสร้างตามมาในภายหลังตามลำดับ แต่หากเมื่อพิจารณาจากรูปแบบกลับพบข้อสังเกตว่า กำแพงเมือง – คูเมือง ที่เป็นรูปแบบเส้นตรงมุมเหลี่ยมแต่กลับมีรูปแบบในลักษณะ “เมืองป้อมภูเขา” หรือแม้แต่ “เมืองน่าน” ก็มีกำแพงเมืองแบบ “พัฒนาการเมืองป้อมภูเขา” ซึ่งเป็นรูปแบบในทางเดียวกันกับเมืองโบราณอื่น ๆ ที่พบในเขตล้านนา เช่น แม่สาย และเมืองอื่น ๆ อันมีตำนานเก่าแก่โยงไปถึงเวียงพางคำ ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าสมัยสุโขทัยอาจมีความเป็นไปได้ที่การตั้งถิ่นฐานในน่านจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าการสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยสุโขทัยตอนต้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนา รัตนโกสินทร์ เช่น แนวกำแพง คูเมือง ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งโดยสรุปสามารถแบ่งเมืองเก่าในเขตเมืองน่านได้เป็น 3 เมือง ได้แก่ เวียงพระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน และเวียงดงพระเนตร
ตำแหน่งเมืองโบราณในเขตเมืองน่าน และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองโบราณ ที่มา: สำรวจโดยกรมศิลปกร
  1. ประวัติเมืองโบราณ “เมืองน่าน”
ในปี พ.ศ.2360 เมืองน่านเกิดอุทกภัย เจ้าสุมนเทวราชได้ย้ายเมืองไปตั้งขึ้นใหม่ ณ บริเวณดงเพนียดช้างทางตอนเหนือ เรียกว่า “เมืองเวียงเหนือ” จนถึง พ.ศ.2398 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ จึงกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์เมืองน่านอีกครั้ง โดยสร้างกำแพงเมือง และประตูเมืองเป็นอิฐถือปูน ซ้อนทับบนแนวกำแพงเดิม สูงจากพื้นดิน 2 วา มีเชิงเทินกว้าง 3 ศอก ประกอบด้วยใบเสมาตั้งอยู่บนเชิงเทิน ซุ้มประตูและป้อมเป็นทรงเรือนยอด ที่มุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง 4 แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อม ป้อมละ 4 กระบอก มีประตูทั้ง 8 ประตู และกำหนดให้พระธาตุช้างค้ำเป็นศูนย์กลางเมืองและชุมชน
 
แม้กำแพงเมือง-คูเมือง จะเหลือให้เห็นได้เป็นส่วนๆ ไม่สมบูรณ์ทั้งเมือง เหลือเพียงแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือเป็นบางส่วน แต่จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับความทรงจำของผู้คนในท้องถิ่น ช่วยให้สามารถกำหนดขอบเขตกำแพงเมือง-คูเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องขุดสำรวจทางโบราณคดี สรุปได้ว่า แนวกำแพงเมืองคูเมืองน่าน ล้อมรอบเนินทับถมตะกอนฝั่งแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็น 2 วงเชื่อมต่อกัน ภายหลังแม่น้ำน่านได้กัดเซาะคูเมืองกำแพงเมือง ทำให้กำแพงเมือง-คูเมืองขาดหายไปและเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเมื่อเริ่มต้นสร้างเมือง โดยแม่น้ำน่านเก่าได้กลายเป็นถนนสุมนเทวราชในปัจจุบัน
ผังทักษาเมืองน่านในอดีต
  1. ขอบเขตพื้นที่ “เมืองน่าน”
เดิมจังหวัดน่านได้กำหนดขอบเขตเมืองประวัติศาสตร์น่านชั้นในตามประกาศจังหวัดน่าน (หัวแหวนเมืองน่าน) ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2546 ต่อมามติที่ประชุมสัมมนา จากโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน เห็นชอบให้เปลี่ยนคำว่า “หัวแหวนเมืองน่าน” เป็น “ใจเมืองน่าน” และกำหนดขอบเขตตามแผนผัง ครอบคุลมสถานที่สำคัญประกอบด้วย
 
ข่วงเมืองน่าน คุ้มเจ้าราชบุตร ศาลากลางหลังเก่า วัดกู่คำ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดหัวข่วง วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดไผ่เหลือง ศาลจังหวัดหลังเก่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน โรงเรียนราชานุบาล
ขอบเขตพื้นที่ใจเมืองน่าน
  1. คุณค่าความสำคัญของ “เมืองเก่าน่าน”
ใจเมืองน่าน เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นชุมชนศูนย์กลางลำดับที่ 1 ตามผังโครงสร้าง มีบทบาทเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง และการศึกษาของจังหวัด ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมและซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร การท่องเที่ยวภายในจังหวัดน่าน ที่เชื่อมโยงกับจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย นอกจากนี้พื้นที่เมืองเก่าน่าน เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตผังเมืองรวมเมืองน่าน ตามประกาศผังเมืองรวมน่าน ฉบับที่ 445 (พ.ศ.2543) ดังนั้นสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่ดังกล่าวจึงมีลักษณะที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของพื้นที่ผังเมืองรวม และจังหวัดน่าน
 
ขอบเขตพื้นที่ “เมืองน่าน” เป็นสัญลักษณ์ของอดีตที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของจังหวัดน่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นเค้าโครงของชุมชนเมืองในอดีตต่อเนื่องกันมา โดยใจเมืองน่านยาวนานถึง 637 ปี ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าในการอนุรักษ์และพัฒนาหลายด้าน ได้แก่
  1. คุณค่าทางวัฒนธรรม (Cultural Value) สามารถเห็นได้จากเอกลักษณ์ของพื้นที่ทั้งริมสองฝั่งแม่น้ำน่าน ซึ่งประกอบด้วยสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น คุ้มเจ้า วัด ย่านการค้า ชุมชนที่พักอาศัยเก่าแก่
  2. คุณค่าทางเศรษฐกิจ (Value Added) บริเวณใจเมืองน่านและพื้นที่โยรอบ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมคุณค่าเศรษฐกิจให้กับชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ สนับสนุนการจัดภูมิทัศน์เมืองในพื้นที่ประวัติศาสตร์ จัดระบบคมนาคมให้เหมาะสม สนับสนุนให้มีถนนคนเดินในลักาณะที่เป็นถนนค้าขาย กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจพิ่มมากขึ้น ผลที่ได้จากการจัดการท่องเที่ยว ๆได้แก่ การค้าขายสินค้าพื้นบ้าน ผลผลิตจากสนวนผลไม้ ผลผลิตจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดย่อย ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง เกิดการจ้างงานเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นดีขึ้น
  3. คุณค่าด้านการใช้งาน (Functional Value) แม้ว่าบางส่วนของโบราณสถาน ศาสนสถานดั้งเดิม ชุมชนเดิมในอดีต หรือสาธารณูปโภคดั้งเดิม ได้เสื่อมลงตามกาลเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และบริบทของเมืองน่านที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การบูรณะปรับปรุงให้นำมาใช้ใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนประโยชน์การใช้สอยให้เข้ากับยุคสมัย นับเป็นหนทางหนึ่งในการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และยังคงตอบสนองประโยชน์ใช้สอบร่วมสมัยได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การจัดระเบียบถนนสายนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวถนนคนเดิน เป็นต้น
  4. คุณค่าด้านการศึกษา (Educational Value) นอกจากจะเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แล้ว ยังถือได้ว่ามีจุดแข็งในการที่จะพัฒนาเป็นแหล่งความรู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมโดยไม่จำเป็นจะต้องละทิ้งการพัฒนาเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการสร้างจุดขายให้บริเวณใจเมืองน่านและพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) โดยการพัฒนาและส่งเสริมบางส่วนของพื้นที่ประวัติศาสตร์ในด้านการสื่อความหมายด้านประวัติศาสตร์ให้ผสมกลมกลืนไปกับบริเวณต่อเนื่องที่ยังมีคนใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
  5. คุณค่าด้านสังคม (Social Value) ในความเป็นมรดกที่มีคุณค่าของจังหวัดและประเทศนั้น ความเกี่ยวเนื่องของกิจกรรมประเพณีทางสังคมถูกนำมาเชื่อมโยงกับการใช้สอยในยุคปัจจุบัน พื้นที่บริเวณใจเมืองน่าน ยังถือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประเภทต่าง ๆ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนยังคงใช้สอยอย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมทางประเพณี ทางสังคมต่าง ๆ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันดูแลรักษาและใช้สอยให้สมกับคุณค่าที่บรรพบุรุษได้ใช้ภูมิปัญญาสร้างมาเชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตได้อย่างต่อเนื่องและผสมกลมกลืน
  1. แผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน
การศึกษาแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน จะทำให้ทราบถึงมาตรการ แนวทางของแผนการพัฒนา เพื่อนำมาเป็นเครือข่ายสนับสนุนการฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้ โดยมีแผนพัฒนาด้านกายภาพ ดังนี้
 

5.1 ระดับเมือง
5.1.1 การใช้ประโยชน์ที่ดิน

    • ใช้ระบบการจัดทำผังเมืองรวมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มโบราณสถาน
    • ส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองน่านที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ รวมถึงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
    • ส่งเสริม จูงใจ หรือผลักดันเกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนาคต

5.1.2 การใช้ประโยชน์ที่ดิน

    • ลดผลกระทบจากการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่-อำเภอเฉลิมชัย จังหวัดน่าน
    • ลดปัญหาและความคับคั่งของการจราจรภายในเขตเมืองเก่า
    • จัดระบบโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งให้เหมาะสมกับการอนุรักษ์เมือง

5.1.3 การใช้ประโยชน์ที่ดิน

    • รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา
    • รักษาและเพิ่มพื้นที่โล่งสีเขียวตามแนวถนนสายประธานเมืองน่าน
    • รักษาและเพิ่มพื้นที่โล่งสีเขียวตามแนวถนนสายสำคัญในเขตเมือง
    • ควบคุมสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบวัดที่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมเมืองน่าน

พื้นที่ควบคุมสภาพแวดล้อมระดับเมือง

5.2 ระดับพื้นที่ (เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน)
5.2.1 การใช้ประโยชน์ที่ดิน

    • ปกป้องคุ้มครองกลุ่มโบราณสถานและพื้นที่ว่างที่สำคัญในพื้นที่ใจเมืองน่าน
    • อนุรักษ์และฟื้นฟูแนวกำแพงเมือง คูเมืองน่านให้ปรากฏต่อเนื่องโดยตลอด
    • รักษาสภาพแวดล้อมภายในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน
    • ลดความแออัดโดยสนับสนุนการดำเนินโครงการย้ายศูนย์ราชการและเรือนจำกลางจังหวัดน่าน

5.2.2 การใช้ประโยชน์ที่ดิน

    • ลดปัญหาความคับคั่งของปริมาณการจราจรในเขตพื้นที่ใจเมืองน่าน
    • ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายบรรยากาศของเมืองเก่า

5.2.3 การควบคุมอาคาร

    • ใช้มาตรการควบคุมอาคารเป็นเครื่องมือในการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ของชาวน่านและเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม และวัฒนธรรมล้านนา
    • ขึ้นทะเบียนแนวขอบเขตที่ดิน กำแพงเมือง คูเมืองเมืองน่าน และเวียงวัดพญาวัดเป็นเขตโบราณสถาน
    • มาตรการการควบคุมอาคาร แบ่งเป็น 5 บริเวณ
      • บริเวณที่ 1 พื้นที่ใจเมืองน่าน ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด เว้นแต่อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีที่ว่างปราศจากอาคารในแปลงที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 อาคารทุกประเภทให้เว้นห่างจากเขตโบราณสถานโดยรอบไม่น้อยกว่า 20 เมตร ป้ายชื่อประกอบกิจการมีรูปแบบกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเมืองเก่า
      • บริเวณที่ 2 พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตที่ดินกำแพงเมือง คูเมืองน่าน ทั้งสองฝั่งออกไปในระยะข้างละ 20 เมตร ตลอดความยาวกำแพงเมืองห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด
      • บริเวณที่ 3 พื้นที่ในบริเวณที่ล้อมรอบบริเวณที่ 1 สร้างได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร มีที่ว่างปราศจากอาคารในแปลงที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และมีระยะห่างจากเขตที่ดินไม่ต่ำกว่า 2 เมตร
      • บริเวณที่ 4 พื้นที่ในบริเวณด้านทิศเหนือของบริเวณที่ 3 สร้างได้เช่นเดียวกับบริเวณที่ 3 และอาคารประเภทบริการและสาธารณูปการ มีพื้นที่ทุกชั้นรวมกันไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร
      • บริเวณที่ 5 พื้นที่ในบริเวณด้านตะวันออกของใจเมืองน่าน เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด และที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด เว้นแต่อาคารประเภทที่กำหนดบริเวณที่ 1

มาตรการด้านการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม “ใจเมืองน่าน”

5.2.4 การควบคุมสภาพแวดล้อม

    • ส่งเสริมภูมิทัศน์เมือง พัฒนาที่โล่งในส่วนของสถานที่ราชการที่เชื่อมต่อกับโบราณสถานที่สำคัญในพื้นที่ใจเมืองน่าน และฟื้นฟูบรรยากาศของข่วงเมืองในอดีต เพื่อให้เกิดบรรยากาศเป็นเมืองเก่า
    • รักษาและควบคุมสภาพแวดล้อมตามแนวถนนในเขตพื้นที่คุ้มครองใจเมืองน่าน
    • ควบคุมสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบของโบราณสถานและศาสนสถาน
    • ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดและดูแลสิ่งแวดล้อมใก้เกิดความเป็นเมืองน่าอยู่

มาตรการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม “ใจเมืองน่าน”
  1. แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน

สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2556 – 2560) เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าน่านเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้คงเมืองเก่าน่านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ สามารถดำรงคุณค่าของเมืองน่านที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่มีรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน สมบูรณ์ สามารถนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

ยุทธศาสตร์และแนวดำเนินการ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความยั่งยืน

  1. ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์เมืองให้ดำรงอยู่ในสภาพที่ยั่งยืน
  2. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เมืองเก่าน่านอย่างรู้คุณค่าโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
    ศิลปกรรมและภูมิทัศน์ของเมืองเก่าน่าน
  3. สร้างกลไกการบริหารจัดการเมืองเก่าน่าน
  4. จัดระบบการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานสากลให้ครอบคลุมพื้นที่ เป้าหมายอย่างทั่วถึง
  5. ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
  6. เร่งรัดการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความหลากหลายของกิจกรรมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น
  7. พัฒนาแนวคิดการสร้างสรรค์ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนให้เกิดมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน
  8. วางผังเมืองให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของเมืองน่าน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก

  1. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยองค์ความรู้และจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างและพัฒนาสิ่งอานวยความสะดวก การบริการ และความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลและครบวงจร

  1. ปรับปรุงเส้นทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสะดวกและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์การจราจรและป้ายบอกแหล่งท่องเที่ยวให้มีทั้งปริมาณที่เพียงพอและมีมาตรฐานเดียวกัน
  2. ปรับปรุงระบบจราจร เพื่อมิให้ปริมาณจราจรส่งผลกระทบต่อโบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่เมืองเก่าน่าน
  3. จัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ได้รับข้อมูล
    การท่องเที่ยวจังหวัด เป็นประโยชน์ในการติดตามความเป็นไปและความเคลื่อนไหว
  4. จัดบริการห้องน้ำสาธารณะที่มีมาตรฐานบริการนักท่องเที่ยวเพียงพอในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
  5. จัดตั้งศูนย์บูรณาการการป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยสนธิกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือ
  6. จัดฝึกอบรมผู้ให้บริการการท่องเที่ยวทุกระดับ ทุกภาคีที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถและความเข้าใจในงานบริการตามมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคีที่เกี่ยวข้องการบริหารการพัฒนา
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น

  1. พัฒนากระบวนการการระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคีที่เกี่ยวข้องในการบริหาร
    การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบกลไกถาวรของชุมชน
  2. พัฒนาองค์ความรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และถ่ายทอดสู่ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและจิตส านึกในการมีส่วนร่วมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  3. สร้างกลไกการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการผลิตสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (OTOP) ในระดับคุณภาพมาตรฐานสากล
  4. กระจายผลการพัฒนาและประโยชน์จากกิจกรรมการท่องเที่ยวสู่ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
  5. สร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ รู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรการท่องเที่ยวในหมู่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนาและดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างสรรค์มูลค่าของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้สูงขึ้น เพื่อเสริมสร้าง
ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  1. จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์มูลค่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนฐาน
    ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น
  2. แปลงผลการศึกษาเพื่อสรรค์สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
  3. ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
    อย่างยั่งยืน
  4. รณรงค์การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านทางสื่อหลายรูปแบบ ตลอดจน
    การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี
แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน จำแนกเป็น 6 แผนงาน ได้แก่ แผนงานการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว แผนงานการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว แผนงานการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว แผนงานการพัฒนาตลาดท่องเที่ยว แผนงานการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่น และแผนงานการ
พัฒนาจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว ซึ่งในการศึกษาเพื่อออกแบบปรับปรุงศาลากลางหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านนี้ จะพิจารณาเฉพาะแผนงานด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ดังนี้
 
  1. แผนงานการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว (การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน, สิ่งอำนวยความสะดวกบริการสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งท่องเที่ยว)
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ ถนนผากองในเขตใจเมืองน่าน
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บนถนนสุริยพงษ์ในเขตเมืองน่าน
    • โครงการจัดทำวงเวียนบริเวณทางแยกถนนมหาวงศ์ตัดกับถนนรอบเมืองตะวันตก (บริเวณทางแยกถนนมหาวงศ์ตัดกับถนนรอบเมืองด้านตะวันตก จุดแหล่งท่องเที่ยวกำแพงเมืองเก่า(บ้านมงคล)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ในวัดพระธาตุแช่แห้งและส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน (วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง)
    • โครงการพัฒนาห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ (เรือนจำ จังหวัดน่าน)
    • โครงการพัฒนาเส้นทางจราจรภายในเขตใจเมืองน่าน (พื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณเมืองประวัติศาสตร์ชั้นใน (ใจเมืองน่าน)
    • โครงการจัดทำแผนและระบบป้องกันภัยเพื่อความปลอดภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่เมืองเก่าน่าน)
    • โครงการปรับปรุงถนนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็น Scenic Road
    • โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มบ้านพักข้าราชการ (พื้นที่บริเวณกลุ่มบ้านพักราชการครอบคลุมพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร ทิศเหนือจรด ถนนมหาวงศ์ ทิศใต้จรดถนนท่าลี่ ทิศตะวันออก จรดบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำน่าน ทิศตะวันตก จรดถนนข้าหลวง)
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในบริเวณศาสนสถานและโบราณสถานนอกเขตใจเมืองน่าน (พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน เขตเทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก (ศาลากลางจังหวัดน่าน และบริเวณโดยรอบ)
    • โครงการจัดทำป้ายการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองเก่าน่าน
  2. แผนงานการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว (การจัดการสิ่งแวดล้อม น้ำเสียมลพิษ และลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์)
    • โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน (ถนนสุริยพงษ์ ช่วงสี่แยกพันต้นถึงหน้าวัดมิ่งเมือง), ถนนมหายศ ช่วงสามแยกหน้าศาลจังหวัดน่านถึงสี่แยกราชวงศ์, ถนนสุมนเทวราชช่วงสามแยกพญาภู ถึงสี่แยกหัวเวียงใต้, ถนนผากองช่วงสี่แยกดอนแยงถึงสี่แยกวัดสวนตาล
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บนถนนสุมนเทวราช (ถนนสุมนเทวราช)
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บนถนนเจ้าฟ้า (ถนนเจ้าฟ้า)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คูเมืองและกำแพงเมืองเก่า (ชุมชนบ้านพญาวัด เขตเทศบาลตำบลดู่ใต้)
    • โครงการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณกำแพงเมืองน่าน คูเมืองน่าน (พื้นที่กำแพงเมืองคูเมืองน่าน)
    • โครงการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวและส่วนบริการสาธารณะ (พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองน่าน (เขตเทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการออกเทศบัญญัติควบคุมอาคารเทศบาลเมืองน่าน (เทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดภูมินทร์
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสัมผัสเอกลักษณ์ชุมชนเมืองน่านตำบลนาซาว (พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนาซาว)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสัมผัสเอกลักษณ์ชุมชนเมืองน่านตำบลม่วงตึ๊ด (พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่เมืองเก่าน่าน)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสัมผัสเอกลักษณ์ชุมชนเมืองน่านตำบลดู่ใต้ (พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่เมืองเก่าน่าน)
    • โครงการให้ความคุ้มครองแก่โบราณสถาน (ในเขตผังเมืองรวมเมืองน่าน)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสัมผัสเอกลักษณ์ชุมชนเมืองน่านตำบลบ่อสวก (พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก)
    • โครงการส่งเสริมการนำพาหนะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมมาให้บริการนักท่องเที่ยว (พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองน่าน เขตเทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการปรับปรุงทัศนียภาพริมน้ำน่านเพื่อการท่องเที่ยว (เขตเทศบาลเมืองน่านและเทศบาลตำบลดู่ใต้)
    • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดสวนตาล (ชุมชนบ้านสวนตาล เขตเทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้วัดน้ำล้อม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมชุมชน (พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน เขตเทศบาลเมืองน่าน)
    • โครงการจัดทำระบบสื่อความหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  (พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองน่าน)
    • โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณบ้านเรือนของประชาชนในเขตเมืองเก่าน่าน
    • โครงการศึกษาออกแบบการบริหารจัดการขยะในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
    • โครงการปรับปรุงระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมพิ้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน
  3.  

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม “ใจเมืองน่าน”

ในการดำเนินงานปรับปรุงอาคารศาลากลางหลังเก่าและบริเวณให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและศูนย์เรียนรู้ล้านนาตะวันออก นั้น จังหวัดน่านได้มีคำสั่งคำสั่งจังหวัดน่าน ที่ ๖๒๒๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๙ แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศาลากลางจังหวัดน่านหลังเดิม (โครงการพัฒนาหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก) มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวดน่านเป็นประธาน ได้จัดประชุมพิจารณากรอบเนื้อหาที่จะจัดแสดง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆที่จะจัดให้มีในอาคาร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเบื้องต้น สรุปได้ ดังนี้
  1. เห็นควรรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
    • อาคาร อบจ. น่าน หลังเดิม
    • อาคารสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดน่าน หลังเดิม
    • ป้อมยามรักษาการ์ณและอาคารจอดรถยนต์ หลังเดิม
    • เสาธงชาติเดิม
  2. เห็นควรให้ย้ายสถานที่เก็บพัสดุของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน มาไว้ที่ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน
  3. เห็นควรให้ปรับขนาดของโรงพยาบาลน่าน สาขาศาลากลางจังหวัดน่าน (เดิม) เป็นหน่วยให้บริการกรณีที่ต้องฟื้นคืนชีพหรือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยออกแบบให้มีรถปฐมพยาบาลในพื้นที่ชั้นล่าง การบริการนี้เป็นบริการเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีภาวะฉุกเฉิน โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ ทำความตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลน่านในโอกาสต่อไป
  4. เห็นควรให้เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างใหม่ ดังนี้
    • ก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้น่าน (Nan Knowledge Center) โดยแบ่งออกเป็น 8  โซน ดังนี้
      • โซนที่ 1  ประชาสัมพันธ์
      • โซนที่ 2  ผ่อนคลายตามอิริยาบถ
      • โซนที่ 3  ห้องสมุดแห่งการเรียนรู้
      • โซนที่ 4  การเรียนรู้เทคโนโลยีและสารสนเทศ
      • โซนที่ 5  โรงภาพยนตร์ 3 มิติ
      • โซนที่ 6  ห้องสมุดเด็ก
      • โซนที่ 7  สนามเด็กเล่นในร่ม
      • โซนที่ 8  ห้องเจ้าหน้าที่
    • ก่อสร้างอาคารเก็บพัสดุ
    • ก่อสร้างอาคารห้องสุขา
    • ก่อสร้างลานจอดรถ
    • ก่อสร้างป้อมยามรักษาการ์ณ
    • ก่อสร้างเสาธงชาติ
    • ก่อสร้างระบบประปา
    • ก่อสร้างระบบระบายน้ำ
    • ก่อสร้างถนนภายในโครงการ
    • ก่อสร้างลานวัฒนธรรม (ลานเมือง)
    • ก่อสร้างอาคารแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
  5. เห็นควรปรับปรุงภายในอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเดิม ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง ดังนี้
    • ห้องจัดแสดงข้อมูลวิถีชีวิต /สังคม / ชาติพันธุ์ เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจของผู้รับบริการ
    • ห้องภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม จัดแสดงข้อมูล ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ วรรณกรรม นาฏกรรม คีตกรรม
    • ห้องภูมิปัญญาด้านศิลปะ จัดแสดงข้อมูลการช่าง การถักทอผ้า การแกะสลัก โลหะกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม
    • ห้องภูมิปัญญาด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จัดแสดงข้อมูลการจัดการปกครอง กฎหมายอาณาจักรหลักคำ ห้องผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
    • ห้องภูมิปัญญาด้านยุทธศาสตร์การศึกสงคราม จัดแสดงข้อมูลการปกป้องบ้านเมือง ศาสตราวุธโบราณ ศิลปะการต่อสู้ กองทัพกับประชาชน
    • ห้องภูมิปัญญาด้านวิทยาศาสตร์ จัดแสดงข้อมูล ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในวัฒนธรรมน่าน
    • ห้องภูมิปัญญาด้านเกษตรศาสตร์และธรรมชาติวิทยา จัดแสดงข้อมูล ระบบ เหมืองฝาย เมืองจัดการตนเอง โครงการปิดทองหลังพระ ภูฟ้า โครงการพระราชดำริ การพัฒนาผลผลิตการเกษตร เช่น กาแฟ/ส้มสีทอง/ข้าว ฯลฯ
    • ห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
    • หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน
    • พื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน
  6. เห็นควรปรับภูมิทัศน์พื้นที่ภายในใหม่ทั้งหมด
  7. เห็นควรจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบโครงการฯ
  8. เห็นควรจ้างเหมาบริการแรงงานบุคคลเป็นการชั่วคราวระหว่างทดลองระบบ
  9. เห็นควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  10. วงเงินงบประมาณของโครงการฯ 250,000,000.-บาท (สองร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมในข้อกำหนดโครงการ (TOR) จากเดิม 7 ห้องในสรุปรายงานการประชุม เป็น 9 ห้อง ในส่วนของนิทรรศการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ประกอบด้วย
    • ห้องพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรและทรงงานในจังหวัดน่าน
    • ห้องผังเมือง การจัดแสดงผังเมืองและพัฒนาการทางผังเมือง
ข้อสรุปเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ออกแบบจะได้ดำเนินการศึกษารายละเอียด จัดทำเป็นโปรแกรมออกแบบ วางแนวความคิดในการออกแบบ และดำเนินการออกแบบประมาณราคาต่อไป
ผังพื้นอาคารศาลากลางหลังเก่าจากแนวคิดจากการประชุมครั้งที่ 2